1270 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ
ระดับไขมันผิดปกติในเลือด เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดต่างไปจากเกณฑ์ที่เหมาะสม เป็นผลให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) และทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular diseases) ตามมา ที่พบบ่อยคือ โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) โรคหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disease) และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (peripheral arterial disease)
ความผิดปกติของระดับไขมันในเลือดมีได้หลายรูปแบบได้แก่ 1. ระดับโคเลสเตอรอลรวม (total cholesterol, TC) สูงในเลือด
2. ระดับ low density lipoprotein-cholesterol (LDL-C) สูงในเลือด
3. ระดับ high density lipoprotein cholesterol (HDL-C) ต่ำในเลือด
4. ระดับไตรกลีเซอไรด์(triglyceride, TG) สูงในเลือด
5. ระดับไขมันผิดปกติแบบใดแบบหนึ่งร่วมกัน 2 อย่างขึ้นไป
กระเทียม
กระเทียม(Allium sativum L.) มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของทวีปยุโรป ถึงตอนกลางของทวีปเอเชียและแพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก ในประเทศไทยนำมาปลูกมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเพื่อใช้เป็นอาหารและเครื่องเทศ
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย ใช้หัวกระเทียมเป็นยาขับลม แก้ลมจุกเสียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ลดไขมัน รักษาปอด พอกหัวเหน่าแก้ขัดเบา แก้หืด แก้ปวดมวนในท้อง แก้ฟกช้ำ แก้หวัดคัดจมูก ใช้ภายนอก รักษากลากเกลื้อน แก้โรคผิวหนัง เป็นส่วนประกอบในตำรับยาเหลืองปิดสมุทร (แก้ท้องเสีย), ยาประสะไพล (ขับน้ำคาวปลา ในสตรีหลังคลอด), ยาธาตุบรรจบ (แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย ใช้กระเทียม 3 กลีบ ทุบชงน้ำร้อน ใช้เป็นน้ำกระสายยา สำหรับยาผง)
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้กระเทียมในตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของหัวกระเทียมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา ตำรับ "ยาประสะไพล" มีส่วนประกอบของหัวกระเทียมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของหัวกระเทียมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด ตำรับ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของหัวกระเทียมคั่ว ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้
ข้อมูลจากการศึกษาวิจัย พบว่ากระเทียม หรือผลิตภัณฑ์จากกระเทียมมีฤทธิ์ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด เพิ่มความสามารถในการสลายไฟบริน มีฤทธิ์ในการลดไขมันในเลือดและลดความดันโลหิต ช่วยลดการเกิดออกซิเดชันของ ไลโพโปรตีนจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิด ไขมันอุดตันในหลอดเลือด ดังนั้นจึงมีการใช้กระเทียมเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อช่วยบรรเทาภาวะไขมันในเลือดสูง ป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวและช่วยลดความดันโลหิตในผู้ป่วยที่ความดัน โลหิตสูงเล็กน้อย(mild hypertension)
ที่มา
1.WHO Monographs on selected medicinal plants. Vol. I. Geneva: World Health Organization; 1999.p. 16-32
2.นายแพทย์พรชัย ประเสริฐวชิรากุล.2554.แนวทางการดูแลรักษาความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด.(ออนไลน์). http://medinfo2.psu.ac.th/commed/web/pdf/5/dyslipidemia.pdf
3.วารสารการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก.2563.กระเทียม (KRA THIAM).(ออนไลน์). file:///C:/Users/ASUS/Downloads/jtam01,+17-p.+203-208-F8-fixed%20(2).pdf