1613 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) เป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์และพฤติกรรมการดำเนินชีวิต จากสถิติเบาหวานทั่วโลกในปี พ.ศ. 2560 มีผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 425 ล้านคน และคาดว่าในปี พ.ศ. 2588 จะมีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานจำนวน 629 ล้านคน โรคเบาหวานเป็นโรคในกลุ่มภาวะเมแทบอลิกซินโดรมซึ่งมีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเมแทบอลิซึมของร่างกาย หากเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเป็นระยะเวลานานส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด และจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังทำให้มีการเสื่อมสภาพและการล้มเหลวในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆที่สำคัญ ได้แก่ ตา ไต เส้นประสาท หัวใจ และหลอดเลือดแดงทั้งขนาดเล็ก (Microvascular) และขนาดใหญ่(Macrovascular)
อาการของโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำตาลสูงจากค่าปกติไม่มากอาจไม่มีอาการชัดเจน จะต้องทำการตรวจเลือดเพื่อการวินิจฉัย ถ้าไม่ทราบว่าเป็นเบาหวานมาเป็นเวลานานผู้ป่วยอาจตรวจพบภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้ ผู้ป่วยที่มีน้ำตาลสูงกว่าค่าปกติมากอาจมีอาการจากน้ำตาลในเลือดสูงหรือจากภาวะแทรกซ้อนได้แก่
1. ปัสสาวะบ่อยและมาก ปัสสาวะช่วงกลางคืน เกิดจากการที่น้ำตาลรั่วปนมากับปัสสาวะและดึงน้ำออกมาด้วย
2. คอแห้ง ดื่มน้ำมาก กระหายน้ำ เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณมาก
3. หิวบ่อยกินจุกจิก แต่น้ำหนักลด เกิดจากการที่ร่างกายใช้กลูโคสเป็นพลังงานไม่ได้ ต้องใช้โปรตีนและไขมันเป็นพลังงาน
4. แผลหายยาก เนื่องจากเมื่อมีการติดเชื้อทางผิวหนัง น้ำตาลที่สูงทำให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวลดลง เมื่อมีบาดแผล จึงหายยากและเป็นอยู่นานกว่าคนทั่วไป
5. คันตามผิวหนัง ติดเชื้อราง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้ป่วยหญิง
6. ตาพร่ามัว อาจเกิดจากน้ำตาลคั่งในเลนซ์ตา โรคจอประสาทตาจากเบาหวานหรือต้อกระจก
สมุนไพรไทยกับการรักษาโรคเบาหวาน
1.ขมิ้นชัน จากการศึกษาผลของสารสกัดขมิ้นชันต่อเบาหวาน พบว่าสารสกัดขมิ้นชันช่วยชะลอการทำงานของเบต้าเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ของตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน โดยส่งผลให้การทำงานดีขึ้น ค่าน้ำตาลสะสม ค่าอินซูลินต่าง ๆ ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากก่อนช่วงที่รับประทาน มีผลข้างเคียงของยาน้อยมาก ดังนั้น ในคนที่ยังไม่ป่วยจึงสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้
2.เชียงดา จากการศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดา การศึกษาในสัตว์ทดลอง ได้ทำการทดลองโดยสกัดสารซาโปนิน 75% เอทานอลของใบเชียงดา และสารไตรเทอร์ปีนอยด์ที่แยกได้จากสารสกัดจากผักเชียงดา ออกฤทธิ์กดการหดตัวของเซลล์ลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภาที่ถูกกระตุ้นด้วยโพแทสเซียม ซึ่งเป็นผลมาจากการยับยั้งการนำกลูโคสจากภายนอกเข้าสู่เซลล์ และตรวจวัดค่าความต่างศักย์ไฟฟ้า ในการขนส่งน้ำตาลเข้าสู่เซลล์บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลายพบว่ามีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อให้ส่วนสกัดจากผักเชียงดาแก่เซลล์ เมื่อทดสอบความทนต่อน้ำตาล โดยป้อนหนูแรทด้วยสารละลายกลูโคสร่วมกับการป้อนสารสกัดซาโปนิน พบว่าให้ผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากผักเชียงดาสามารถรบกวนการดูดซึมน้ำตาลบริเวณลำไส้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
มะระขี้นก
มะระขี้นก มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Momordica charantia L.อยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae มะระขี้นกมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของเอเชียและทางตอนเหนือของแอฟริกาเขตร้อน มะระขี้นกสามารถรับประทานเป็นอาหารและเป็นยาได้ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งส่วนใบ ผล และลำต้น ในอดีตมีรับประทานมะระขี้นกเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ต่อมาได้ค้นพบว่าสารสำคัญในมะระขี้นกที่อาจมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้คือ charantin, momocharin และ momordicin ซึ่งสารพฤกษเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้มีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับอินซูลินจึงคาดว่ามีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
สรรพคุณทางยาแผนไทย
มะระขี้นก มีรสขมจัด สรรพคุณเจริญอาหาร บํารุงน้ำดี แก้โรคของม้ามและตับ โรคลมเข้าข้อ น้ำต้มแก้ไข้ น้ำคั้นแก้ปากเปื่อยเป็นขุยและบํารุงโลหิตระดูสตรี และตํารายาไทยใช้ใบมะระในตํารับยาเขียว สรรพคุณ ลดไข้ รากใช้ในตํารับยาแก้โลหิตเป็นพิษ และโรคตับ
มะระขี้นกจัดเป็นพืชสมุนไพรที่ถูกนํามาอยู่ในบัญชียาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในกลุ่มยาพัฒนาจากสมุนไพร เพื่อใช้ในอาการแก้ไข้ แก้ร้อนใน
การศึกษาวิจัยมะระขี้นกในการรักษาโรคเบาหวาน
จากการศึกษาผลของมะระขี้นกในการรักษาโรคเบาหวาน: กลไกการออกฤทธิ์และประสิทธิภาพทางคลินิก พบว่ามะระขี้นกสามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน เพิ่มความไวในการตอบสนองต่ออินซูลิน ยับยั้งการดูดซึมกลูโคส ยับยั้งเอนไซม์hexokinase ปกป้องเซลล์ของตับอ่อน และ ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการ gluconeogenesis การศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของมะระขี้นกทั้งในสัตว์ทดลองและมนุษย์พบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีและไม่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่เป็นอันตรายร้ายแรง
ที่มา
1.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์. มปป. ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน. (ออนไลน์). สืบค้นจาก: http://www.med.cmu.ac.th/etc/princefund/file/17.pdf. 14 มกราคม 2565.
2.สมลักษณ์ จึงสมาน. 2561. ขมิ้นชันรักษาเบาหวาน. (ออนไลน์). สืบค้นจาก :https://mgronline.com/qol/detai
3.กนกพร อะทะวงษา. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดาและ Gymnema sylvestre. จุลสารข้อมูลสมุนไพร.
4.วิระพล ภิมาลย์และปวิตรา พูลบุตร. 2562. ผลของมะระขี้นกในการรักษาโรคเบาหวาน: กลไกการออกฤทธิ์และประสิทธิภาพทางคลินิค. วิทยานิพนธ์, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
5.กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก.2564.มะระขี้นกกับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด.(ออนไลน์).สืบค้นจาก : https://www.dtam.moph.go.th/images/Trust-NEWS/trust0226-18062564.pdf
6.https://www.hfocus.org/content/2019/11/18054