มะแว้งต้นและมะแว้งเครือ (ชีวจิต : ฉบับที่ 35 : 16 มีนาคม 2543)

2985 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มะแว้งต้นและมะแว้งเครือ (ชีวจิต : ฉบับที่ 35 : 16 มีนาคม 2543)

มะแว้งต้นและ มะแว้งเครือเป็นพืชผักสมุนไพรคนละต้นกัน แต่อยู่ในวงศ์ Solanaceae เดียวกัน มะแว้งต้นนั้นยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ มะแว้งต้นไร้หนาม (Solanum sanitwongsei Craib) และมะแว้งต้นมีหนาม (Solanum violaceum Ortega)
มะแว้งต้นทั้งสองชนิดนี้มีลักษณะใบและทรงต้นคล้ายมะเขือเปราะ มะเขือ เสวย มะเขือขื่น ฯลฯ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ความสูงประมาณ 100-150 เซนติเมตร มีอายุ 2-5 ปี มีขนสั้นๆ ปกคลุมทั่วไป ผลเดี่ยวกลมสีเขียวอ่อน และบางชนิดผลอ่อนสีค่อนข้างขาว เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป้นสีส้ม ผลมีขนาด เส้นผ่านสูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ผลมะแว้งสดมีรสขม
มะแว้งเครือ (Solanum trilobatum Linn.) บางครั้งเราเรียกมันว่า มะแว้งเถา ลักษณะทรงต้นเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยหรือทอดต้น ลำต้นและใบ สีเขียวเข้ม ผิวเรียบ เป็นมันวาว สะท้อนแสง มีหนามสีขาวใสแหลมคม กระจายทั่วทั้งต้นและก้านใบ ขอบใบเว้า ผลกลม เมื่อยังดิบสีเขียวอ่อน มีลายผลสีเขียวตามยาวไปหาขั้วผล เมื่อสุกผลจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ดอกมะแว้งเครือเกิดเป็นช่อ กลีบดอกสีม่วงสด อับเรณูเป็นสีเหลืองสด ตัดกันดูสวยงาม ผลมะแว้งสดมีรสขมเช่นเดียวกับมะแว้งต้น
พืชในวงศ์ Solanum มีประมาณ 1,500 สปีชี่ส์ ส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งร้อนในอเมริกากลาง อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย อเมริกา และประมาณ 25 สปีชี่ส์ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มะแว้งต้นมีขึ้นกระจัดกระจายตั้งแต่อินเดียตลอดไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การใช้ประโยชน์ทางด้านอาหาร
ผลอ่อนเผาไฟให้สุก รับประทานกับ ลาบ ก้อย ป่นปลา (ภาคอีสาน)
ผลอ่อนรับประทานกับน้ำพริกปลาทู (ภาคกลางและกรุงเทพฯ)
ผลอ่อนสดและผลสุกใช้รับประทานสดประกอบอาหาร หรือใช้เป็นอาหารตามฤดูกาล
ผักพื้น บ้านภาคอีสาน, 2541 หน้า 216 - 219 ; Prosea , Vegetables 8 ,1996 p.249-252)

สรรพคุณทางยาสมุนไพร
รากมะแว้งต้นชนิดมีหนามใช้รักษาโรคหลอดลมอักเสบและโรคหอบหืด (bronchitis and asthma) เมล็ดใช้แก้ปวดฟัน
(Prosea,1996)
ผลสดมะแว้งต้นชนิดไม่มีหนาม แก้ไอ ขับเสมหะ รักษาเบาหวาน ขับปัสสาวะ มีการทดลองในสัตว์พบว่า น้ำสกัดผลมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด แต่มีฤทธิ์น้อย ระยะการออกฤทธิ์สั้น พบสเตียรอยด์ประมาณค่อนข้างสูง ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
สมุนไพร สวนสิรีรุกขชาติ 2539)
ผลสดมะแว้งเครือ เป็นส่วน ผสมหลัก ในยาประสะ (เข้าเครื่องยา) มะแว้งขององค์การเภสัชกรรมซึ่งผลิตขึ้นตาม ตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ

ส่วนประกอบสำคัญยาสมุนไพรแผนโบราณ "มะแว้ง" ขององค์การเภสัชกรรม คือ ผลมะแว้ง 16 ส่วน ใบกะเพรา 4 ส่วน (ใบกะเพรา-ขับลม แก้ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน) ใบตานหม่อน 4 ส่วน(ใบตานหม่อน - แก้ตานซางในเด็ก รักษาลำไส้ ฆ่าพยาธิ) ใบสวาด 4 ส่วน(ใบสวาด-ขับลม แก้จุกเสียด แก้ปัสสาวะพิการ) หัว(เหง้า) ขมิ้นอ้อย 3 ส่วน (เหง้าขมิ้นอ้อย - แก้ท้องร่วง อาเจียน แก้ไข้ ผสมในยาระบายเพื่อให้ระบายน้อยลง สมานแผล) และสารส้ม 1 ส่วน

สมุนไพรสวนสิรี รุกขชาติ, 2539 และ จากซองบรรจุยาสมุนไพรมะแว้งขององค์การเภสัชกรรม ผลิตเมื่อ 20 เมษายน 2542)
มะแว้งเครือตำรายาไทย ใช้ผลสดแก้ไอ ขับเสมหะ ใช้ขนาด 4-10 ผล โขลกหรือตำพอแหลก คั้นเอาน้ำ ใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ หรือเคี้ยวกลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขม ผลสดมะแว้งเครือใช้ขับปัสสาวะ แก้ไข้ และเป็นยาขมเจริญอาหารด้วย
สมุนไพรสวน สิรีรุกชาติ, 2539 หน้า 190-191)

มะแว้งทั้งสามชนิด คือ มะแว้งต้นไร้หนาม (Solanum sanitwongsei Craib) มะแว้งต้นมีหนาม (Solanum violaceum Ortega) และมะแว้งเครือ (Solanum triobatum Linn.) มีสรรพคุณเป็นผักสมุนไพรรักษาโรคเหมือนกัน คือ แก้ไอ ขับเสมหะ และเจริญอาหาร
(ผัก ไทย-ยาไทย, 2539 หน้า 2 )

รสและประโยชน์ต่อสุขภาพ
ผลสดมะแว้งขมจัด อมรสเฝื่อนเล็กน้อย ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับลม ผลมะแว้งสด 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 59 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยเส้นใย 3.3 กรัม แคลเซียม 50 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 68 มิลลิกรัม เหล็ก 1 มิลลิกรัม วิตามินเอ 1,383 IU วิตามินบี 1 0.04 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.10 มิลลิกรัม ไนอาซิน 8.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 6 มิลลิกรัม
(สรุปผลการประชุมสัมมนา ผักพื้นบ้านอาหารธรรมชาติอีสานและสมุนไพรไทย ครั้งที่ 3, 2541 หน้า 59 สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล)

การปลูกและดูแลรักษา
มะแว้งขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตามปรกตินกจะเป็นตัวกระจายพันธุ์ โดยเฉพาะมะแว้งเครือจะพบขึ้นเองตาม ธรรมชาติแถว กรุงเพทฯ นนทบุรี และจังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดทั่วประเทศนกก็จะเป็นตัวกระจายพันธุ์มะแว้งต้น ทั้งชนิดมีหนามและไม่มีหนาม ในลักษณะของการปลูกเพื่อขายหรือทำยาสมุนไพร ก็จะมีปลูกกันป็นธุรกิจบ้างสำหรับสวนครัวในบ้านนั้น น้อยบ้านนักที่จะนำมะแว้งมาปลูกเพือรับประทานเป็นผัก ประเภทผลรับประทานสด แต่ในชนบทอีสาน คนพื้นบ้านอีสานนิยมบริโภคผักพื้นบ้านที่มีรสขมเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่แปลกที่คนพื้นบ้านอีสานจะรับประทานมะแว้งผลสดเป็นผักสด มะแว้งต้นมีหนามจะใช้เวลางอกจากเมล็ดนาน 1-2 สัปดาห์หรือมากกว่าเล็กน้อย ต้นมะแว้งจะออกดอกเมื่อต้นมีอายุประมาณ 2-3 เดือน ผลมะแว้งต้นมีหนามสามารถเก็บเป็นผลสดได้ภายหลังจากดอกบานและผสมพันธุ์แล้ว ประมาณ 2-4 สัปดาห์ มะแว้งต้นชนิดมีหนาม ช่อดอกหนึ่งๆ จะติดผลปีละ 2 -8 ผล ต้นมะแว้งมีอายุยืนยาวได้มากกว่า 1 ปีขึ้นไป

การหยอดเมล็ดมะแว้งต้นมีหนามเพื่อการขยายพันธุ์ ควรหยอดลึกประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร อุณหภูมิที่ ต้นมะแว้งเจริญเติบโตได้ดี คือ 25-32 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80 เปอร์เซ็นต์และมีร่มเงาประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เราจะย้ายกล้ามะแว้งจากกระบะเพาะลงถุงพลาสติกดำสำหรับปลูกเมื่อต้นมะแว้งมี ใบจริง 2-3 ใบ และเมื่อต้นมะแว้งมีความสูง 15 - 20 เซนติเมตรในถุงปลูก จึงย้ายจากถุงปลูกลงแปลงปลูกกลางแจ้ง โดยใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 1 เมตร ระยะระหว่างแถวห่างกัน 1 เมตร
ถ้าจะปลูกเป็นสวนครัว ควรปลูกในกระถางมังกรที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 นิ้ว ลึก 15นิ้ว ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับและเป็นพืชสมุนไพรในบ้าน ถ้าปลูกมะแว้งเครือก็ต้องทำซุ้มให้ต้น เลื้อยคลุมในลักษณะกึ่งร่มกึ่งแดดจึงจะดูสวยงาม และไม่มีอันตรายจากหนามของมัน เพราะให้ ขึ้นและเจริญเติบโตเป็นที่เป็นทาง ศัตรูของมะแว้งต้นมีหนามมีอยู่ตัวเดียว คือไส้เดือน ฝอยรากปม (Meloidogyne aenaria)
ที่มา ชีวจิต : ฉบับที่ 35 : 16 มีนาคม 2543

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้